DATE
17.11.2021
วันนี้เราพามาดูตัวอย่างไอเดียกิจกรรมที่จะช่วยฝึกประสาทสัมผัสทั้ง 5 ของเด็ก เพื่อช่วยเตรียมพร้อมให้ลูกน้อยเกิดการเรียนรู้สิ่งรอบตัว
การพัฒนาของสมองและประสาทสัมผัสในช่วงวัยแรกเกิดมีผลอย่างมากต่อสุขภาพและการเจริญเติบโตโดยรวมของลูกในวัยเด็ก เรียกได้ว่าเป็นช่วงที่จะสร้างรากฐานที่แข็งแรงเพื่อการเรียนและการรับรู้ที่สมบูรณ์ต่อไปในอนาคต การพัฒนาสมองของลูกวัยแรกเกิด สามารถกระทำผ่านกิจกรรมที่มีการกระตุ้นให้เกิดการรับรู้จากสิ่งเร้าภายนอก เช่น การมองเห็นสิ่งของต่าง ๆ รอบตัว การสัมผัสกับอ้อมกอดจากคุณพ่อคุณแม่ การดมกลิ่น การกระตุ้นประสาทสัมผัสทำให้สมองเกิดความคิด เริ่มมีการจดจำและเรียนรู้ ใยประสาทจะเชื่อมโยงกันอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้สมองพัฒนาได้รวดเร็ว
ประสาทสัมผัสทั้ง 5 คืออะไร? และมีอะไรบ้าง?
ประสาทสัมผัสทั้ง 5 หมายถึง การมองเห็น (รูป – Sight) การลิ้มรส (รส – Taste) การได้กลิ่น (กลิ่น – Smell) การได้ยิน (เสียง – Hearing) และการสัมผัส (สัมผัส – Touch) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการรับรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัวผ่านอวัยวะรับความรู้สึกอันได้แก่ ตา ลิ้น จมูก หู และผิวหนัง ประสาทรับรู้ทั้ง 5 นี้ส่งผลอย่างมากต่อความคิดและอารมณ์ รวมทั้งพัฒนาการของลูกน้อยที่จะนำไปสู่การพัฒนาทักษะ ส่งเสริมให้สมองและระบบสัมผัสทำงานสอดคล้องกันต่อไป
- ตา ใช้ในการสังเกตมองดู สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัว
- หู ใช้ในการฟังเสียง
- จมูก ใช้ในการดมกลิ่น
- ลิ้น ใช้ในการลิ้มรสชาติว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร
- มือ ใช้ในการหยิบจับสิ่งของ
ดังนั้น การพัฒนาประสาทสัมผัสทั้ง 5 ของลูกน้อยนั้นสามารถเริ่มเรียนรู้ตั้งแต่อายุน้อย โดยเรียนผ่านการเล่นและทำกิจกรรม วิธีการฝึกให้ลูกน้อยมีพัฒนาการโดยใช้ประสาทสัมผัส ผ่านการเรียนรู้ สิ่งรอบ ๆ ใกล้ตัว มีตัวอย่างกิจกรรมดังนี้
1. การฝึกประสาทตา
หากลูกยังอยู่ในวัยทารก การฝึกประสาทสัมผัสด้านการมองเห็นที่ดีที่สุดก็คือ การเล่นกับลูกและให้ลูกได้มองสีหน้าของเราขณะที่เรายิ้มและหัวเราะ โดยปกติเด็กทารกจะมีการตอบรับต่อสิ่งเร้าง่าย ๆ อยู่แล้ว เช่น หากมีผู้ใหญ่หลายคนเล่นกับเด็กพร้อมกัน เด็กจะมีการเบนสายตาไปมองคนที่ส่งเสียงเรียก หรือหันไปมองผู้ใหญ่อีกคนที่อยู่ในการมองเห็น
ขณะที่คุณแม่และผู้ใหญ่ในบ้านท่านอื่น ๆ ต้องลุกไปกิจธุระอย่างอื่นในบริเวญนั้น ก็สามารถใช้ของเล่นแขวนอย่างโมบายรูปร่างต่าง ๆ แขวนไว้ให้ลูกได้มองเห็น การฝึกประสาทสัมผัสด้านการมองเห็นและฝึกกล้ามเนื้อตาได้ สามารถเลือกสิ่งของที่มีสีสันตัดกันมาก ๆ เนื่องจากสีสันที่แตกต่างจะสามารถดึงดูดความสนใจได้ดี อย่าง เช่น โมบายสีขาวสลับดำ เป็นต้น
เมื่อลูกยังอยู่ในวัยทารก การฝึกประสาทสัมผัสผ่านการได้ยินสามารถทำร่วมกันกับการฝึกประสาทสัมผัสผ่านการมองเห็นได้ด้วยการเล่นและพูดคุยกับลูก หรือแม้แต่การเปิดเพลงบรรเลงให้ลูกฟัง
บทความที่เกี่ยวข้อง:
4 ดนตรีบรรเลง เพลงโมสาร์ท กล่อมลูกน้อยนอนหลับสบาย
การฟังเสียงสิ่งต่าง ๆ รอบตัว เช่น เสียงนกร้อง เสียงรถยนต์ขับผ่าน เสียงพูดคุยกัน เสียงร้องของสัตว์เลี้ยง เสียงเพลง ล้วนสามารถใช้กระตุ้นการเรียนรู้ผ่านการได้ยินได้ทั้งสิ้น เมื่อลูกโตขึ้นมาอีกนิดช่วงที่พ้นวัยทารกไป แนะนำให้ใช้เกมสนุก ๆ เช่น ของเล่นที่เป็นเครื่องดนตรีให้เสียงสูงต่ำแตกต่างกัน หรือเล่นเกมทายเสียงโดยให้คุณพ่อคุณแม่จะเปิดเสียงปริศนาผ่านของเล่นสำหรับเด็ก และให้ลูกทายว่าเป็นเสียงของอะไร เริ่มต้นจากเสียงง่าย ๆ คือ เสียงสัตว์ก่อน เพราะเด็กจะจดจำและเข้าใจได้ง่ายขึ้น
3. การฝึกประสาทจมูก
กระตุ้นด้วยการฝึกให้ลูกน้อยของคุณดมกลิ่นต่าง ๆ เช่น กลิ่นขนม กลิ่นดอกไม้ กลิ่นอาหาร กลิ่นสมุนไพรที่มีสรรพคุณด้านกลิ่นบำบัด หรือสุวคนธบำบัด ให้เริ่มจากกลิ่นที่พึงประสงค์จำพวกกลิ่นหอมจากธรรมชาติก่อน เพราะเด็กเล็กนั้นจะค่อนข้างอ่อนไหวเป็นพิเศษกับกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ ต่อไปก็จะเกิดการเรียนรู้ว่าสิ่งของต่าง ๆ ให้กลิ่นที่แตกต่างกัน มีกลิ่นหอมหลายแบบ และมีกลิ่นไม่พึงประสงค์หรือกลิ่นเหม็นได้เช่นกัน
4. การฝึกประสาทลิ้นและการรับรส
ในช่วงที่ลูกอยู่ในวัยทารกอาจไม่ใช่ช่วงที่เหมาะสมจะฝึกประสาทของลิ้นและการรับรสนัก เพราะอาหารที่ลูกรับประทานได้นั้นจำกัดอยู่ที่นมแม่หรือนมผง ดังนั้นการฝึกการรับรสจึงสามารถทำได้เมื่อในวัยเด็กเล็ก โดยฝึกให้ลูกน้อยชิมอาหารแล้วให้บอกว่ารสชาติของอาหารเป็นอย่างไร เช่น เค็ม เปรี้ยว จืด หวาน ขม โดยให้ลูกน้อยใช้ความคิดและใช้ลิ้นรับรส จากนั้นบอกคุณพ่อคุณแม่ โดยที่คุณพ่อคุณแม่อาจชิมรส แสดงให้เห็นทางสีหน้า แล้วจึงพูดออกมา (หวานเหมือนลูกกวาด เค็มเหมือนเกลือ) ให้ลูกดูเป็นตัวอย่างก่อน
5. การฝึกประสาทสัมผัส
การฝึกประสาทผ่านการสัมผัสเป็นเรื่องที่ทำได้ง่าย เริ่มจากการสัมผัสลูกด้วยการโอบกอด จับมือของลูกมาจับส่วนต่าง ๆ บนใบหน้าของเรา หรือการให้ลูกจับเนื้อหาที่มีสัมผัสที่แตกต่างกันก็สามารถทำได้ เมื่อลูกโตพอทีจะหยิบของเล่นและสำรวจสิ่งต่าง ๆ รอบตัวได้ด้วยตัวเองแล้วนั้น การปล่อยให้ลูกใช้มือหยิบจับของเล่นต่าง ๆ ที่มีผิวสัมผัสแตกต่างกัน เช่น วัสดุนิ่มหรือแข็ง ผิวเรียบหรือขรุขระ อุ่นร้อนหรือเย็น
ส่งท้าย
และทั้งหมดนี้เป็นการฝึกให้ลูกน้อยของคุณใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 อย่าง ตา หู จมูก ลิ้น มือ อย่างรอบด้าน กระตุ้นและส่งเสริมพัฒนาการที่ดี อย่าลืมคอยสังเกตด้วยว่าลูกมีการพัฒนาการในการใช้หน่วยประสาทสัมผัสทั้ง 5 อย่างไร แล้วจดบันทึกไว้ เพื่อจะทำให้คุณพ่อคุณแม่ทราบว่าการเติบโตของลูกน้อยในแต่ละวัยเป็นอย่างไร แล้วเล่าให้คุณหมอหรือนักพัฒนาการเด็กได้ถูกต้อง แล้วที่สำคัญที่สุด คุณพ่อคุณแม่ควรเล่นไปพร้อมกับลูกด้วย กระตุ้นให้ลูกได้สำรวจสิ่งต่าง ๆ ผ่านการใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ทำให้ลูกน้อยได้รับความรักความอบอุ่นจากคุณพ่อคุณแม่และมีสุขภาวะทางอารมณ์ที่ดี