DATE
09.10.2020
ปัญหาที่คุณพ่อคุณแม่หลายคนเผชิญก็คือ ลูกงอแง ไม่ยอมนั่งคาร์ซีท วันนี้เราเลยรวบรวมขั้นตอน วิธีฝึกลูกนั่งคาร์ซีท ฝึกยังไงให้สำเร็จ
คุณพ่อคุณแม่ย่อมเข้าใจถึงความสำคัญของการให้ลูกน้อยนั่งในคาร์ซีทกันดีว่ามีความจำเป็นมากแค่ไหน เพราะความปลอดภัยในการเดินทางของลูกน้อยคือสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นอันดับหนึ่งก่อนเรื่องใดๆ
แต่ปัญหาที่คุณพ่อคุณแม่หลายคนเผชิญก็คือ ลูกงอแง ไม่ยอมนั่งคาร์ซีท ซึ่งพอเห็นลูกร้องไห้ คุณพ่อแม่ผู้ปกครองก็ทนเห็นไม่ได้ จนบางครั้งก็ต้องยอมอุ้มแทนให้นั่งคาร์ซีท กลายเป็นว่าซื้อคาร์ซีทมาก็ไม่ได้ใช้อยู่ดี จนในที่สุดก็กลายเป็นความเคยชินที่จะไม่ใช้ไปเสีย
ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่อันตรายมาก เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่ควรประนีประนอมจนกลายเป็นความเคยชิน อุบัติเหตุบนท้องถนนจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ไม่มีใครรู้ เพื่อความปลอดภัยของลูก ต้องมาเรียนรู้วิธีที่จะฝึกให้ลูกนั่งคาร์ซีทกันค่ะ
1. เตรียมตัวในเบื้องต้นให้พร้อม
1.2 เลือกคาร์ซีทให้เหมาะสมกับลูก
สิ่งสำคัญอันดับแรกสุดที่ต้องเตรียมให้พร้อมก็คือ การเลือกคาร์ซีท คุณพ่อคุณแม่ต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้งานของคาร์ซีทก่อนค่ะ ว่าอุปกรณ์ที่ช่วยรักษาความปลอดภัยให้ลูกน้อยตัวนี้มีลักษณะยังไง ใช้งานยังไง และต้องเลือกซื้อยังไง ซึ่ง Baby Hills Thailand เคยเขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้ไปแล้ว สามารถอ่านได้ที่นี่เลยค่ะ (คาร์ซีทยี่ห้อไหนดี? คำถามยอดฮิตกับวิธีเลือกซื้อที่ถูกต้อง)
1.2 คุยกันภายในครอบครัวให้เข้าใจถึงความสำคัญของการฝึกลูกนั่งคาร์ซีท
อีกเรื่องที่สำคัญก็คือการคุยกันภายในครอบครัวเสียก่อน ตกลงและทำความเข้าใจให้เห็นตรงกันถึงความสำคัญของการใช้คาร์ซีท แน่นอนว่าหลายคนอาจจะอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ และมีญาติผู้ใหญ่คอยช่วยเลี้ยงลูก ความคิดเห็นในการเลี้ยงเด็กอาจไม่ตรงกัน ญาติผู้ใหญ่อาจไม่เห็นถึงความสำคัญของการใช้คาร์ซีท มองว่าสิ้นเปลือง หรือยุ่งยาก การอธิบายให้เข้าใจว่าการมีคาร์ซีทนั้นจำเป็นแค่ไหนจึงต้องเป็นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่
นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องคุยกันให้เข้าใจว่าถ้าหากลูกงอแง จะต้องพูดกับลูกอย่างใจเย็น ทำใจไว้แต่เนิ่นๆ ว่าการฝึกอาจไม่ราบรื่น
2. ฝึกยิ่งเร็วยิ่งดี ยิ่งโตอาจยิ่งฝึกยาก
บางคนที่ลูกนั่งคาร์ซีทตั้งแต่ยังเป็นทารก เรียกได้ว่าพาลูกนั่งคาร์ซีทตั้งแต่วันแรกที่ออกจากโรงพยาบาล แล้วก็ไม่เคยมีปัญหาใดๆ หลังจากนั้น ก็เรียกได้ว่าโชคดีมากๆ แต่สำหรับใครที่ยังไม่เคยให้ลูกได้ลองนั่ง หรือมีปัญหาลูกน้อยมางอแงให้ภายหลัง ก็ต้องลองมาฝึกกันอย่างจริงจัง ให้จำไว้ว่าการเริ่มฝึกนั้น เริ่มฝึกให้เร็วที่สุดยิ่งดี เพราะฝึกตั้งแต่ลูกยังเล็กยิ่งจะยิ่งง่ายกว่าตอนลูกโต
3. เช็คความพร้อมของสภาพแวดล้อมและตัวลูกน้อย
ก่อนให้ลูกนั่งคาร์ซีท ต้องสำรวจความพร้อมของลูกให้พร้อม ในเบื้องต้นให้เช็คความพร้อมพื้นฐานอย่าง ลูกกำลังหิวไหม ลูกร้อน/หนาวไหม และลูกปวดปัสสาวะ/อุจจาระไหม หรือลูกกำลังไม่สบายไหม เป็นต้น ซึ่งต้องควบคู่กันไปกับปัจจัยภายนอกอื่นๆ ด้วย เช่น ตรวจเช็คสภาพแวดล้อมในรถให้ดีว่าตำแหน่งที่นั่งแดดส่องทำให้ลูกไม่สบายตัวหรือเปล่า ไม่แมลงหรือมดอยู่ในคาร์ซีทหรือเปล่า แอร์ร้อนหรือหนาวไปไหม แม้แต่เพลงที่เปิดในรถ หรือมีอะไรที่ทำให้ลูกรู้สึกกลัว หรือไม่ชอบไหม
4. จัดท่านั่งให้ถูกต้อง และทำให้ลูกสบายตัว
- สำหรับทารกน้อย คุณแม่ควรใช้ผ้าห่อตัวลูกเหมือนดักแด้ ทั้งนี้เพื่อให้ลูกรู้สึกอบอุ่นปลอดภัย เลียนแบบลักษณะเหมือนอยู่ในท้องแม่
- จัดท่าทางให้ถูกต้อง หากลูกอายุต่ำกว่า 5 เดือนไม่ควรจัดให้อยู่ในท่านั่งเพราะจะเป็นการกดทับเป็นเวลานาน ส่วนสะโพกของลูกน้อยยังไม่พร้อมรับน้ำหนัก ทำให้เมื่อยล้า
- ใช้น้ำเสียงนุ่มนวลพูดคุยและอธิบายลูก แม้ว่าลูกจะยังไม่สามารถโต้ตอบเราได้ เพื่อให้ลูกรู้สึกอุ่นใจ
5. ทำให้ลูกน้อยเพลิดเพลิน (โดยไม่ใช้หน้าจอไอแพด-มือถือ)
การใช้หน้าจอและอุปกรณ์ไอแพดหรือมือถือเพื่อช่วยดึงความสนใจของลูกน้อยนั้น เป็นเรื่องที่เรารู้กันดีอยู่แล้วว่าไม่ควรทำ แม้ว่าการใช้อุปกรณ์เหล่านี้จะไม่ได้ถึงกับให้โทษร้ายแรงอะไร หากใช้ในปริมาณที่เหมาะสมกับวัยและระยะเวลาที่จำกัด แต่ก็ไม่ควรใช้พร่ำเพรื่อ ควรใช้วิธีอื่นช่วยดึงความสนใจของลูก ซึ่งจะเป็นวิธีอะไรนั้นก็อาจจะแตกต่างกันออกไป เช่น ชวนลูกดูข้างทาง ใช้ของเล่นที่ลูกชอบ การร้องเพลงหรือเล่านิทาน เป็นต้น
ถ้าลูกเป็นเด็กโตที่เริ่มพูดคุยโต้ตอบได้ หากลูกงอแงไม่อยากนั่งคาร์ซีทก็อาจจะใช้วิธีหลอกล่อด้วยคำพูดได้ นอกจากนี้ก็อย่าลืมเตรียมขนมและน้ำ ในกรณีที่ต้องเดินทางกันนานๆ นะคะ
6. ฝึกต่อเนื่อง และสม่ำเสมอให้กลายเป็นกิจวัตร
กับทุกๆ อย่าง แรกๆ ลูกอาจมีการต่อต้าน แต่หากฝึกมากๆ เข้า หลังๆ ก็จะเริ่มเคยชินจนกลายเป็นเรื่องธรรมดาไป แต่ต้องอย่าหย่อนยานและละเลย ต้องทำให้เป็นความเคยชินและกลายเป็นนิสัยจริงๆ ไม่ว่าจะเดินทางไปไหน จะใกล้จะไกลแค่ไหน ก็ต้องใช้คาร์ซีททุกครั้ง ให้เหมือนเป็นเรื่องปกติไปเลย
7. บางครั้งก็ต้องใจแข็ง
หากว่าเราตรวจจนมั่นใจแล้วว่าลูกได้อยู่ในท่าที่ถูกต้อง ไม่หิว ไม่ได้ไม่สบาย ไม่ได้ปวดเข้าห้องน้ำ สบายตัวดีทุกอย่าง แต่ก็ยังร้องไห้ อาจเป็นไปได้ว่าเป็นเพียงการร้องไห้ชนิดที่เรียกว่าเอาแต่ใจ เมื่อเป็นเช่นนี้ สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำคือการนิ่งเฉยค่ะ ใจแข็งเข้าไว้ เมื่อเราไม่โอ๋ลูก ลูกก็จะเรียนรู้ที่จะยอมรับสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ และโอเคกับการนั่งคาร์ซีทไปเองในที่สุดค่ะ
สรุป
จบกันไปแล้วกับทิปส์และขั้นตอนการฝึกให้ลูกนั่งคาร์ซีทได้แบบไ่ม่งอแง อาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ยากเกินไปแน่นอนค่ะ อย่างที่ Baby Hills Thailand ได้ย้ำไปแล้วหลายครั้งว่าคาร์ซีทนั้นสำคัญมาก ประนีประนอมไม่ได้ ทั้งหมดก็เพื่อความปลอดภัยของลูกน้อยค่ะ
สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่กำลังเลือกซื้อคาร์ซีท อย่าลืมเลือกซื้อคาร์ซีทที่มีคุณภาพ เพื่อให้แน่ใจว่าได้คาร์ซีทที่ปลอดภัยกับลูกอย่างแท้จริง
Baby Hills Thailand เองตระหนักและใส่ใจถึงเรื่องความปลอดภัยและคุณภาพของสินค้านำเข้าของเรามาเป็นอันดับหนึ่ง เราเป็นตัวแทนจำหน่ายเฉพาะแบรนด์ที่เราไว้ใจ ศึกษามาแล้วว่าได้มาตรฐานแน่นอนอย่าง DAICHII คลิกเพื่อศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของ DAICHII