
เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่ย่อมทราบถึงประโยชน์ของคาร์ซีทสำหรับลูกน้อยเป็นอย่างดีอยู่แล้วนั่นคือความปลอดภัยที่ช่วยป้องกันเมื่อเกิดอุบัติเหตุขณะเดินทางด้วยรถยนต์ซึ่งแน่นอนว่าปัญหาอย่างหนึ่งที่มักพบเป็นประจำและสร้างความหนักอกหนักใจกังวลไม่น้อยก็คือ“ลูกไม่ยอมนั่งคาร์ซีท”ร้องไห้งอแงไม่หยุดทุกที วันนี้เราได้รวบรวมสาเหตุพร้อมกับวิธีรับมือ ให้ลูกหัดนั่งคาร์ซีทมาแนะนำเพื่อความปลอดภัยและความสุขตลอดการเดินทางของทุกคน
- นั่งรถนาน ๆ แล้วเบื่อ
เด็กเล็กๆ ที่กำลังอยู่ในช่วงวัยพัฒนาการต่าง ๆ เริ่มเจริญเติบโตนั้นจะมีนิสัยความอยากรู้อยากเห็นสิ่งใหม่ ๆ เพราะฉะนั้นการนั่งอยู่บนรถนาน ๆโดยไม่มีอะไรทำ จึงเป็นเรื่องที่น่าเบื่อและทำให้งอแงเพราะลูกไม่ยอมนั่งอยู่บนคาร์ซีท นาน ๆ นั่นเอง สำหรับวิธีรับมือก็คือหากิจกรรมสนุกๆ บนรถเช่น เล่านิทานให้ลูกน้อยฟังชวนดูวิวทิวทัศน์ระหว่างทางแล้วพูดคุยเล่าเป็นเรื่องราว หรือหาของเล่นนุ่ม ๆที่มีเสียงและจับถือง่ายให้ลูกเล่นเพียงเท่านี้เขาก็รู้สึกเพลิดเพลินไม่เบื่อแล้วค่ะ
- อุณหภูมิในรถร้อนเกินไป
บางครั้งแอร์ภายในรถอาจจะเย็นไม่ค่อยทั่วถึงพอลูกน้อยรู้สึกไม่สบายตัวจากอุณหภูมิที่ร้อนเกินไป ก็ทำให้ลูกร้องไห้งอแงดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงต้องคอยดูแลว่าแอร์ในรถเย็นทั่วถึงหรือไม่แดดส่องตัวลูกหรือเปล่า ปรับอุณหภูมิแอร์ไม่ให้ร้อนหรือเย็นเกินไปเตรียมผ้าห่มและที่บังแดดมาติดกระจกฝั่งที่ลูกนั่งเพื่อป้องกันไม่ให้แสงแดดส่งเข้าตาลูก
- เสียงรถและความวุ่นวายบนท้องถนน
ไม่ว่าจะเป็นเสียงรถเสียงแตร หรือแม้แต่การหยุดรถกะทันหันอาจจะทำให้ลูกน้อยเกิดอาการตกใจจนร้องไห้แล้วพาลไม่ชอบการนั่งอยู่บนรถวิธีรับมือที่ง่ายที่สุดคือเมื่อพาลูกนั่งบนรถ ให้เปิดเพลงจังหวะสบาย ๆหรือเพลงช้า ๆ เพื่อช่วยให้ลูกรู้สึกผ่อนคลาย มีอารมณ์ที่สงบ ไม่ร้องไห้งอแงขณะนั่งบนรถทั้งยังเป็นการกระตุ้นช่วยให้เขานอนหลับง่ายขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย
- ไม่เห็นคุณพ่อคุณแม่
การที่ลูกไม่ยอมนั่งคาร์ซีทบางทีก็มีเหตุผลง่ายๆ คือมองไม่เห็นคุณพ่อคุณแม่ ทำให้รู้สึกว่าตัวเองอยู่คนเดียวไม่อุ่นใจและไม่ปลอดภัยเพราะฉะนั้นคาร์ซีทแบบหมุนได้จึงน่าจะตอบโจทย์ข้อนี้ได้เป็นอย่างดีแต่ถ้าติดตั้งคาร์ซีทแบบหมุนไม่ได้ ให้แขวนกระจกเพื่อให้ลูกน้อยมองเห็นตัวเองในกระจกสร้างความเพลิดเพลินจากการมองเห็นตัวเองหัวเราะเอิ๊กอ๊ากไปเรื่อย
- ลูกไม่สบาย
กรณีที่ลูกนั่งบนรถแล้วร้องไห้งอแงทุกครั้งแม้ว่าจะหาสาเหตุพร้อมกับแก้ไขทุกทางแล้วก็ยังไม่หยุด แต่กลับร้องไห้งอแงจนลูกไม่ยอมนั่งคาร์ซีทเลย ไม่แน่ว่าอาจจะกลายเป็นสาเหตุที่มาจากเรื่องสุขภาพของลูกก็ได้โดยปัญหาที่พบบ่อยคืออาการหูติดเชื้อหรือหูชั้นกลางอักเสบพออากาศในรถเบาบางลงแล้วรถวิ่งจึงทำให้หูอื้อ กระตุ้นให้มีอาการเจ็บหูมากขึ้น ส่วนวิธีรับมือคือคุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นสังเกตลูกน้อยว่าร้องไห้มากกว่าปกติเพราะอะไรหรือมีอาการเจ็บตรงไหนเพื่อจะได้พาลูกไปตรวจรักษาอย่างถูกวิธีต่อไป

6. ตรวจเช็คสายรัดเอว
เด็กในวัยกำลังเจริญเติบโตเร็วอาจจะรู้สึกอึดอัดเวลาที่นั่งคาร์ซีท ทั้งที่คุณพ่อคุณแม่เพิ่งปรับสายรัดเบาะไปเพียงสัปดาห์ก่อน แต่ขนาดตัวของลูกขยายเพิ่มขึ้นจนนั่งคาร์ซีทไม่สบายตัว ดังนั้นก่อนอุ้มลูกลงนั่งคาร์ซีท คุณพ่อคุณแม่ควรตรวจดูอุปกรณ์เสริมและสายรัดว่าแน่นไปหรือไม่ ปรับสายและเบาะให้เหมาะสมกับความสูงของเบาะและน้ำหนักตัวของลูก โดยดูจากคู่มือการใช้คาร์ซีท
7. ลูกหิว
เมื่อต้องนั่งในคาร์ซีทอยู่ในรถนาน ๆ จนเลยเวลามื้ออาหาร พอลูกน้อยรู้สึกหิวก็เลยมีอาการงอแงจนทำให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจว่าลูกไม่ยอมนั่งคาร์ซีท วิธีรับมือข้อนี้จึงง่ายนิดเดียวแค่เตรียมเสบียงไว้ให้พร้อม เช่น ของว่าง ขนม และนม คราวนี้ก็เดินทางได้อย่างสบายใจ จะรถติดหรือเดินทางใกล้ไกลก็ไม่ต้องกังวลว่าลูกจะหิว
8. ลูกง่วงนอน
เด็กเล็ก ๆ มักจะใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการนอนหลับ เพราะฉะนั้นเมื่อลูกร้องไห้งอแงบางครั้งก็อาจจะมาจากนั่งรถแล้วง่วง ไม่ชอบนั่งรถนาน ๆ หรืออาจจะตรงกับเวลานอนหลับของลูกพอดี วิธีรับมือที่คุณพ่อคุณแม่ทำได้ก็คือเตรียมเครื่องนอนที่พกพาได้ อย่างเช่น หมอน ผ้าห่ม ตุ๊กตาตัวโปรด และนม
เพื่อให้เขานอนหลับในรถอย่างสบายตัวที่สุด หรือคุณพ่อคุณแม่เลือกวางแผนการเดินทางเปลี่ยนเวลาใหม่ที่ไม่ตรงกับช่วงเวลานอนหลับของลูก
9. ลูกไม่เคยชินกับการนั่งคาร์ซีท
เป็นเรื่องธรรมชาติที่ลูกน้อยจะรู้สึกไม่เคยชินกับประสบการณ์ใหม่ ๆ แล้วร้องไห้งอแงออกมา
ลูกอาจจะไม่ยอมนั่งคาร์ซีทเพราะไม่คุ้นเคยกับการมีอะไรมารัดตรึงตัวจนรู้สึกอึดอัด พอร้องไห้งอแงแล้วคุณพ่อคุณแม่ดุที่ไม่เข้าใจว่าลูกเป็นอะไร จะส่งผลให้ลูกมีความคิดเชิงลบกับการนั่งคาร์ซีทเสมอ วิธีรับมือในข้อนี้คือก่อนติดตั้งคาร์ซีทบนรถ ลองนำคาร์ซีทไปวางไว้ในบ้านให้ลูกได้นั่งเล่นหรือปีนป่ายสร้างความคุ้นเคย
ช่วงแรก ๆ ที่ลูกไม่ยอมนั่งคาร์ซีทนั้น คุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องอดทนสักหน่อย แต่ถ้าผ่านช่วงแรกไปแล้ว ลูกน้อยจะเริ่มค่อย ๆ ปรับตัวให้เคยชินกับการนั่งคาร์ซีทได้เอง ทำให้การเดินทางกลายเป็นเรื่องสนุกและมีความสุขที่ได้ออกไปเที่ยวนอกบ้านนั่นเอง
