fbpx

รถเข็นเด็ก Hotline : (+66)-84-364-4445

รู้จักและเข้าใจ ‘เบบี้บลู’ อาการ Baby Blue หรือ มาม่าบลู คืออะไรกันแน่
รู้จักและเข้าใจ เบบี้บลู อาการ Baby Blue หรือ มาม่าบลู คืออะไรกันแน่

Date

Baby Hills Thailand จะพาทุกท่านมารู้จักและทำความเข้าใจกับ ‘เบบี้บลู’ หรือ ‘มาม่าบลู’ ว่าอาการเป็นยังไง มีวิธีการแก้ไขและดูแลตัวเองยังไง
รู้จักและเข้าใจ เบบี้บลู อาการ Baby Blue หรือ มาม่าบลู คืออะไรกันแน่

รู้กันหรือไม่ว่าอาการ ‘The Baby Blues’ หรือ ‘มาม่าบลู’ นั้น คืออาการอะไร และแบบไหนที่เรียกว่าเบบี้บลู หรือแบบไหนที่เรียกว่าเป็นภาวะซึมเศร้าหลังคลอด หลายคนอาจจะไม่เคยรู้จักคำ ๆ นี้ แต่สำหรับใครที่กำลังเตรียมตัวเป็นว่าที่คุณแม่มือใหม่ อาจจะเคยได้ยินประสบการณ์จากคนรอบตัวเกี่ยวกับสภาวะเหล่านี้มาบ้าง วันนี้ Baby Hills Thailand จะพาทุกท่านมารู้จักและทำความเข้าใจกับ ‘เบบี้บลู’ หรือ ‘มาม่าบลู’ ว่าอาการเป็นยังไง มีวิธีการแก้ไขและดูแลตัวเองยังไง

เบบี้บลู หรือ The Baby Blues คืออะไร?

The Baby Blues หรือภาวะอารมณ์เศร้าหลังคลอด ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดขึ้นกับคุณแม่ที่เพิ่งคลอดลูกได้ถึง 30-75% เรียกว่าเป็นอัตราส่วนที่ไม่น้อยเลยทีเดียว ภาวะอารมณ์หม่นเศร้านี้อาจจะทำให้คุณแม่มีอารมณ์ที่อ่อนไหวกว่าปกติ เช่น รู้สึกเศร้า คิดมาก ฟุ้งซ่าน และร้องไห้มากกว่าปกติ สาเหตุก็มาจากเรื่องของฮอร์โมนในร่างกายของคุณแม่ที่แปรปรวน ทำให้ส่งผลกระทบโดยตรงกับอารมณ์ ความคิด และพฤติกรรมการแสดงออก คุณแม่ที่อยู่ในสภาวะที่จิตใจไม่มั่นคงเช่นนี้ อาจจะกังวลไปว่าจะไม่สามารถเลี้ยงลูกให้ดีได้ จะไม่สามารถเป็นคุณแม่ที่ดีได้ เป็นต้น 

แต่เมื่อเวลาผ่านไป ฮอร์โมนจะกลับเข้าที่และเริ่มกลับสู่ภาวะปกติ อารมณ์เศร้าต่าง ๆ ก็จะดีขึ้นได้เอง ยิ่งมีกำลังใจที่ดีจากคนรอบข้างก็ยิ่งมีแนวโน้มที่จะหายจากอาการเหล่านี้ได้โดยไม่ต้องพบแพทย์

ลักษณะของอาการโดยทั่วไปของ ‘เบบี้บลู’

ลักษณะของอาการนั้น หากจะพูดให้เข้าใจง่ายที่สุดก็คงจะเป็นลักษณะคล้ายกับอารมณ์แปรปรวนของคุณผู้หญิงในช่วงที่มีประจำเดือน หรือคุณผู้หญิงวัยกะรัตหรือวัยทองที่เริ่มหมดประจำเดือน ที่คล้ายคลึงนั่นก็เพราะว่าเป็นภาวะที่เกี่ยวข้องกับความแปรปรวนของฮอร์โมนเหมือนกัน 

ในช่วงที่มีอาการ ‘เบบี้บลู’ ทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวนั้นจะดูเหมือนเป็นเรื่องที่ใหญ่โต มีผลกระทบกับอารมณ์ของเราไปเสียหมด เดี๋ยวหงุดหงิด เดี๋ยวเศร้า เดี๋ยวร้องไห้ เดี๋ยวน้อยใจ รู้สึกสับสนคิดมากเกินกว่าปกติ อาจมีภาวะเครียดจนทำให้นอนไม่หลับ ไม่มีความสุข หรือมีความรู้สึกว่าตัวเองไม่ดีพอ กังวลว่าจะเลี้ยงลูกไม่ได้ กังวลกับอนาคต เป็นต้น ซึ่งเมื่อคุณแม่ต้องเผชิญกับอาการเหล่านี้ แล้วหากคนรอบข้างไม่พยายามทำความเข้าใจภาวะเหล่านี้แล้วล่ะก็ อาจจะทำให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้ง จะยิ่งทำให้อาการแย่ลง 

สำหรับคุณพ่อหรือคนรอบตัวที่กำลังเผชิญกับคุณแม่มือใหม่ที่มีอาการเบบี้บลู หรือมาม่าบลู ตรงนี้อาจจะต้องใช้ความเข้าใจและค่อย ๆ พูดจาหารือกันด้วยเหตุผลให้มาก ต้องระลึกไว้ว่าคุณแม่ไม่ได้เป็นเช่นนี้อยากแสดงออกด้วยพฤติกรรมเหล่านี้เลย แต่เหตุนั้นเกิดจากฮอร์โมนที่ส่งผลโดยตรงกับสมอง ทำให้คุณแม่ตกอยู่ในภาวะดังกล่าว ควรปฏิบัติและพูดคุยกับคุณแม่ด้วยท่าทีที่ปลอบประโลม รวมทั้งการให้กำลังใจที่เป็นเรื่องสำคัญ

เบบี้บลูต่างกับโรคซึมเศร้าหลังคลอดหรือไม่?

เบบี้บลูเป็นภาวะเศร้าหรืออารมณ์แปรปรวนที่เกิดขึ้นได้เองและจะสามารถดีขึ้นได้เอง แต่แน่นอนว่าต้องอาศัยความเข้าใจและกำลังใจจากคนรอบข้างช่วยเสริมด้วย คุณแม่ส่วนใหญ่จะมีอาการดีขึ้นได้ภายในสองสัปดาห์ แต่หากดูท่าว่าอาการมีแต่จะรุนแรงขึ้น หรือกินระยะเวลาเกินไปกว่านี้ อาจวินิจฉัยใหม่ (โดยแพทย์) ว่าเป็นภาวะโรคซึมเศร้าหลังคลอด หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Postpartum Depression ซึ่งหากเป็นภาวะซึมเศร้าหลังคลอดอาจจะต้องมีการพบจิตแพทย์เพื่อขอคำปรึกษา ร่วมกันหาทางออกว่าจะมีแนวทางในการดูแลตนเองเพื่อให้มีสุขภาวะที่ดีได้อย่างไร หรืออาจมีการทำจิตวิทยาบำบัดควบคู่ไปพร้อม ๆ กัน

วิธีการดูแลคุณแม่ เมื่อมีอาการ ‘มาม่าบลู’

วิธีดูแลคุณแม่ เมื่อมีอาการ ‘มาม่าบลู’ นั้น มีหลายวิธีด้วยกัน หลัก ๆ นั้นจะเริ่มต้นที่การดูแลตนเอง (self-care) และการจัดการกับความเครียด (stress management) ตัวอย่างวิธีการดูแลคุณแม่ที่มีอาการเบบี้บลู เช่น

• การพูดคุยกับคุณแม่คนอื่น ๆ 

ในช่วงที่อยู่เดือน คุณแม่จะออกบ้านน้อยมาก ยิ่งสถานการณ์ที่มีโรคระบาด Covid-19 ยิ่งทำให้ยากที่จะออกไปพบปะผู้คน (บทความนี้เขียนเมื่อเดือนกรกฎาคม 2564) ดังนั้นการพูดคุยอาจเป็นในลักษณะของวิดีโอคอลก็ได้ การได้พูดคุยกับคุณแม่คนอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นคุณแม่มือใหม่เหมือนกัน หรือคุณแม่ที่มีประสบการณ์มาก่อน ก็ล้วนเป็นการช่วยทำให้ได้มุมมองใหม่ ๆ ในหลายมิติมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการระบายความเครียดอีกแบบหนึ่ง

• เข้าใจตัวเองและสิ่งที่ตัวเองกำลังเผชิญ

เมื่อเกิดความเครียดหรือคิดมากขึ้นมา เราควรที่จะรู้ตระหนักเป็นอันดับแรกว่าเราคิดมากเรื่องอะไร เป็นอารมณ์แบบไหน มีสาเหตุมาจากอะไร เป็นสิ่งที่เราแก้ไขได้ไหม หรือเป็นสิ่งที่เราสามารถควบคุมได้ไหม ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องถามตัวเอง เพราะจะได้ทำความเข้าใจและหาแนวทางหรือวิธีคิดที่จะรับมือกับความคิด ความกังวล ความกดดันต่าง ๆ ที่รบกวนจิตใจ การเข้าใจและให้กำลังใจตนเองคือเครื่องมือสำคัญในการจัดการกับอารมณ์เศร้า

• อย่าคิดว่าตัวเองโดดเดี่ยว

เมื่ออยู่ภาวะอารมณ์เศร้า จะทำให้ฟุ้งซ่านได้ง่าย เกิดอารมณ์น้อยใจในเรื่องที่ปกติไม่เคยคิดมาก่อน และบางคนก็รู้สึกโดดเดี่ยว คิดว่าไม่มีใครเข้าใจ ให้จำเอาไว้ว่าไม่จริง เพราะคุณแม่ส่วนใหญ่ไม่ใช่แค่คนไทยด้วยกัน แต่คุณแม่ทั่วโลก ล้วนมีความกดดันและกังวลกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวเองหลังคลอดกันทั้งนั้น การระลึกได้ว่าทุกคนย่อมเคยผ่านช่วงเวลาเช่นนี้ จะทำให้เรารู้สึกไม่โดดเดี่ยว และมีกำลังใจที่จะฮึดสู้และลงมือสร้างความเปลี่ยนแปลงมากขึ้น

• พักผ่อนให้เพียงพอ 

การดูแลทารกน้อยที่เป็นคนสำคัญและเป็นแก้วตาดวงใจของครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้น ๆ ของคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ แต่อย่าลืมว่าตนเองก็เป็นคนที่ควรได้รับการใส่ใจเช่นกัน อย่าดูแลลูกอย่างเดียวจนลืมดูแลตนเอง ควรหาเวลาพักผ่อนให้มากขึ้น หากเวลานอนน้อยลงเพราะเลี้ยงลูก อาจหาเวลางีบหลับเอาแรงในช่วงกลางวันบ้างก็ยังดี หลีกเลี่ยงแอลกฮอล์และสารเสพติดต่าง ๆ ซึ่งจะมีผลทำให้อารมณ์แกว่งมากขึ้นกว่าเดิม 

• หาเวลาออกไปเดินออกกำลังเบา ๆ บ้าง 

หากิจกรรมที่ผ่อนคลายความเครียดเบา ๆ ทำ และหากเป็นไปได้ก็อย่าอุดอู้อยู่แต่ในห้อง ให้ออกไปสูดอากาศบริสุทธิ์นอกบ้านเสียบ้าง ธรรมชาติจะช่วยเยียวยาจิตใจที่ห่อเหี่ยว คุณจะมีความรู้สึกสดชื่นขึ้น ช่วยลดความกังวลและความเศร้า อย่าลืมว่าการออกกำลังกายมีผลกับฮอร์โมน และฮอร์โมนก็มีผลกับอารมณ์และความคิดของคุณ

อ่านต่อ: ลดหุ่นหลังคลอดได้ง่าย ๆ ด้วย 4 วิธีลดน้ำหนักหลังคลอดดังต่อไปนี้!

สรุป

อาการ ‘มาม่าบลู’ หรือ ‘เบบี้บลู’ ไม่ใช่เรื่องผิดแปลก เป็นเรื่องที่ใกล้ตัว และเกิดขึ้นได้กับคุณแม่ทุกคน สิ่งสำคัญคือต้องเริ่มสังเกตอาการให้เร็ว ทั้งตัวคุณแม่สังเกตตัวเอง และคนรอบข้างก็ควรใส่ใจและสังเกตด้วย เพื่อไม่ให้อาการเหล่านี้ลากยาวนานต่อเนื่องจนเรื้อรังและกลายเป็นโรคซึมเศร้า 

สำหรับคุณแม่คนไหนที่อยู่บ้านแล้วต้องเลี้ยงลูกไปด้วย ในขณะที่ทำงานบ้านไปด้วย อย่าลืมใช้เป้อุ้มเด็กเพื่อช่วยให้สามารถอุ้มลูกในท่าทางที่ถูกต้องเหมาะสม วัสดุปลอดภัยทั้งกับคุณแม่ที่ต้องดูแลแผลผ่าตัดและสรีระของคุณลูก 

Baby Hills Thailand ตระหนักและใส่ใจถึงเรื่องความปลอดภัยและคุณภาพของสินค้านำเข้าของเรามาเป็นอันดับหนึ่ง เราเป็นตัวแทนจำหน่ายเฉพาะแบรนด์ที่เราไว้ใจ ศึกษามาแล้วว่าได้มาตรฐานแน่นอนอย่าง HARMAS คลิกเพื่อศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของ HARMAS Hip Seat Carrier

More
articles

กลับไป
LINE
Messenger